เพื่อนๆ คงเคยได้ยินคำว่า ไฟโตนิวเทรียนท์ (Phytonutrients) หรือ พฤกษเคมี (Phytochemicals) กันมาบ้างใช่มั้ยคะ ทั้งสองคำนี้หมายถึงสารประกอบอินทรีย์ที่พืชสร้างขึ้น และเป็นสารอาหารตามธรรมชาติที่ร่างกายมนุษย์ไม่สามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เอง แต่ต้องได้รับจากอาหาร สารเหล่านี้เป็นตัวการทำให้ผักและผลไม้มีสีสัน รสชาติ และกลิ่นที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่สำคัญคือมีฤทธิ์ในการด้านออกซิเดชั่นหรืออนุมูลอิสระได้ จึงช่วยลดความเสียหายที่เกิดกับดีเอ็นเออันเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง และยังช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน ต่อต้านการอักเสบ และสามารถต้านเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นสาเหตุของโรคบางชนิดได้อีกด้วย
สารพฤกษเคมีมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดมีฤทธิ์และคุณประโยชน์แตกต่างกัน เรามาดูกันค่ะว่าผักและผลไม้แต่ละสีที่เรารับประทานนั้นมีสารพฤกษเคมีอะไรอยู่บ้าง
กลุ่มที่ 1 ผักผลไม้สีเขียว
ผักและผลไม้สีเขียวอุดมไปด้วยคลอโรฟิลด์ (Chlorophyll) มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยยับยั้งการเกิดโรคมะเร็ง ยับยั้งการเกิดริ้วรอย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งสดใส ช่วยขับสารพิษและของเสียต่างๆ ออกจากร่างกาย ช่วยลดกลิ่นตัว และลดความอยากอาหารได้ นอกจากนี้ยังมีลูทีน (Lutein) ที่ช่วยบำรุงสายตา ป้องกันโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือ AMD (Age-Related Macular Degeneration) ในวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นอย่างถาวรได้
ผักและผลไม้สีเขียว ได้แก่ คะน้า สาหร่ายบางชนิด ตำลึง ผักกาด ผักใบเขียวต่างๆ และผลไม้สีเขียว เช่น แอปเปิ้ลเขียว ฝรั่ง
กลุ่มที่ 2 ผักผลไม้สีเหลือง-ส้ม
ผักและผลไม้สีเหลือง-ส้ม อุดมไปด้วยลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin) ซึ่งเป็นเป็นรงควัตถุเพียงสองชนิดที่พบที่จอประสาทตาของมนุษย์ สารทั้งสองชนิดนี้ทำหน้าที่กรองรังสีที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ช่วยปกป้องเซลล์จอประสาทตาไม่ให้ถูกทำลายโดยลดการเกิดอนุมูลอิสระ ช่วยถนอมจอตาไม่ให้เสื่อมเร็ว และป้องกันการเกิดโรค AMD ได้
ในผักผลไม้สีเหลือง-ส้ม ยังมีเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ช่วยบำรุงสายตาและทำให้มองเห็นในเวลากลางคืนได้ดี ช่วยบำรุงผิวพรรณ ลดคอเลสเตอรอลและไขมันในเส้นเลือด และมีฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยยับยั้งอาการเสื่อมของร่างกาย ยับยั้งโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ช่วยลดการอักเสบในโรคหัวใจและหลอดเลือด และลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งได้
ผักและผลไม้สีเหลือง-ส้ม ได้แก่ ส้ม แครอท มะละกอ มะนาว สับปะรด ฟักทอง มันเทศ ขนุน เสาวรส ข้าวโพด ฯลฯ
กลุ่มที่ 3 ผักผลไม้สีแดง
ผักและผลไม้สีแดงมีไลโคปีน (Lycopene) และเบต้าไซซิน (Betacycin) ซึ่งขึ้นชื่อในด้านการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร สามารถป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ได้ นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อผิวพรรณ ช่วยปกป้องผิวจากแสงแดด ลดการเกิดสิว และทำให้รอยแผลเป็นจางลง ไลโคปีนในอาหารจะเพิ่มมากขึ้นถ้าปรุงให้สุกหรือให้อาหารนั้นผ่านความร้อน
ผักและผลไม้สีแดงที่มีไลโคปีนสูง ได้แก่ มะเขือเทศ บีทรูท พริกหวาน เชอรี่ แตงโม เกรพฟรุต ฝรั่งขี้นก (ฝรั่งสีชมพู) กระเจี๊ยบแดง และผลไม้ตระกูลเบอร์รีต่างๆ
กลุ่มที่ 4 ผักผลไม้สีน้ำเงิน-ม่วง
ผักและผลไม้สีน้ำเงิน-ม่วงมีกรดฟีโนลิก (Phenolic Acid) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบในโรคหัวใจและหลอดเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง และแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งสามารถทำลายสารที่ทำให้เกิดมะเร็ง ช่วยกระตุ้นการทำงานของเซลล์ต่างๆในร่างกาย ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจ และยับยั้งเชื้ออีโคไลที่ทำให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษได้
ผักและผลไม้สีน้ำเงิน-ม่วง ก็เช่น มะเขือม่วง ลูกแบล็คเบอรี่ บลูเบอรี่ ดอกอัญชัน กะหล่ำปลีม่วง มันเทศสีม่วง หอมแดง ฯลฯ
กลุ่มที่ 5 ผักผลไม้สีขาว-น้ำตาล
ผักผลไม้สีขาว-น้ำตาลประกอบไปด้วยสารพฤกษเคมีหลายชนิด ที่สำคัญได้แก่ แซนโทน (Xanthone) ซึ่งพบมากในเนื้อและเปลือกมังคุด แซนโทนมีคุณสมบัติช่วยลดอาการอักเสบ สามารถลดอาการปวดข้อเข่า ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด และเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง กรดไซแนปติก (Synaptic Acid) และอัลลิซิน (Allicin) มีฤทธิ์ต้านการเกิดเนื้องอก ช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตและโรคหลอดเลือดหัวใจ และไฟโตเอสโตรเจน (Phytoestrogens) ซึ่งมีคุณสมบัติคล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจน สามารถทดแทนฮอร์โมนเพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนเพื่อลดอาการวัยทองได้ นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งต่อมลูกหมาก โดยสารกลุ่มไฟโตเอสโตรเจนจะพบมากในพืชตระกูลถั่ว ธัญพืช และพืชจำพวกหญ้า ผักและผลไม้ที่จัดว่ามีไฟโตรเอสโตรเจนสูง คือ กวาวเครือ ตังกุย เมล็ดแฟล็กซ์ ถั่วต่างๆ และน้ำมะพร้าว เป็นต้น
นอกเหลือจากที่กล่าวมาแล้ว ผักและผลไม้อื่นๆ ที่มีสีขาวจนถึงน้ำตาลอ่อนก็เช่น ขิง ข่า กระเทียม กุยช่าย ขึ้นฉ่าย เซเลอรี เห็ด ลูกเดือย หัวไชเท้า ถั่วเหลือง ดอกกะหล่ำ ถั่วงอก และงาขาว ส่วนผลไม้ก็เช่น กล้วย สาลี่ พุทรา ลางสาด ลองกอง ลิ้นจี่ ละมุด แห้ว เป็นต้น
เพื่อนๆ คงเห็นแล้วใช่มั้ยคะว่าผักและผลไม้แต่ละชนิดต่างก็มีสารพฤกษเคมีที่มีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างครบถ้วน เราควรรับประทานผักผลไม้ให้หลากหลายในแต่ละวัน ถ้าเป็นไปได้รับประทานให้ครบทั้ง 5 สี และที่สำคัญ อย่าลืมเลือกรับประทานผักผลไม้ปลอดสารพิษเพื่อให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากอาหารอย่างเต็มร้อยด้วยนะคะ
เลือกซื้อผักและผลไม้ออร์แกนิคจากผู้ผลิตคุณภาพ มั่นใจ ไร้สารตกค้าง ที่
Line ID: @kingorganic
FB: m.me/kingorganicth
https://www.kingorganicth.com
####################
แหล่งอ้างอิง
1. มหัศจรรย์ของสีสันในผักผลไม้กับสารไฟโตนิวเทรียนท์ (PHYTONUTRIENTS)
https://bit.ly/36z314k
2.ผัก กับสารพฤกษเคมี
https://health.kapook.com/view50762.html
3. ประโยชน์ของผักผลไม้ 5 สี
https://bit.ly/34od5ug
4. ผักผลไม้สีแดง
https://bit.ly/3iztilr
5. สารลูทีน (Lutein) และ ซีแซนทีน (Zeaxanthin) มีความสำคัญต่อดวงตาอย่างไร
https://bit.ly/3jDBJNR