เบื้องหลัง ถุงพลาสติกย่อยสลายได้
กระแสรักษ์สิ่งแวดล้อมในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้ถุงพลาสติกกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาหลายๆ คน และทำให้หลายองค์กรหันไปใช้ถุงพลาสติกแบบย่อยสลายได้ หรือที่เรามักจะเรียกว่า “ถุงรักษ์โลก” กันมากขึ้น เพราะเชื่อกันว่าพลาสติกชนิดนี้ดีต่อสิ่งแวดล้อม พอใช้แล้วก็ย่อยสลายกลายเป็นเศษดินเศษปุ๋ย ไม่เหลือเป็นขยะไปทำร้ายกุ้งเต่าปูปลา หรือหมักหมมเป็นขยะบนพื้นดินและท้องมหาสมุทรให้เป็นภาระลูกหลานรุ่นต่อไป
แต่รู้หรือไม่ว่าไม่ใช่ถุงพลาสติกย่อยสลายได้ทุกใบที่เป็นเช่นนั้น !!?
เมื่อพูดถึงถุงพลาสติกย่อยสลายได้ เรามักจะคุ้นหูกับคำว่า Oxo-degradable Plastic และ Biodegradable Plastic และมักทึกทักเอาว่าถุงรักษ์โลกคือวัสดุอย่างใดอย่างหนึ่งในสองประเภทนี้ แต่ที่จริงแล้วทั้งสองประเภทไม่มีแบบไหนเลยที่สามารถย่อยสลายได้อย่างแท้จริงในสภาวะแวดล้อมธรรมชาติ
Oxo-degradable Plastic หมายถึงพลาสติกทั่วไปที่ผู้ผลิตนำมาใส่สารเติมแต่ง เช่น สารออกโซ (Oxo) ลงไป เพื่อเร่งให้พลาสติกแตกตัวเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยได้เร็วขึ้น เศษพลาสติกชิ้นเล็กๆ เมื่อแตกตัวจะกลายเป็นไมโครพลาสติก ส่วน Biodegradable Plastic หรือ “พลาสติกย่อยสลายได้ทางชีวภาพ” นั้น หมายถึงพลาสติกที่ทำจากวัตถุดิบชีวภาพ (bio-based) หรือปิโตรเคมี (petro-based) ซึ่งสามารถแตกตัวได้โดยกิจกรรมของจุลินทรีย์หรือสิ่งมีชีวิต พลาสติกประเภทนี้จะย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม (เช่น จุลินทรีย์ ความชื้น และความร้อน เป็นต้น) หากปล่อยทิ้งไว้ในสภาวะแวดล้อมทั่วไป พลาสติกก็สามารถแตกตัวเป็นเป็นไมโครพลาสติกที่สร้างปัญหาอยู่ในปัจจุบันได้
พลาสติกที่สามารถย่อยสลายได้โดยไม่ทิ้งสิ่งแปลกปลอมเอาไว้ คือ “พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ” หรือ Compostable Plastic ซึ่งหมายถึงพลาสติกที่สามารถสลายตัวเป็นแร่ธาตุและสารประกอบในธรรมชาติ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ และปุ๋ยได้ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดนิยามของ “พลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพ” ไว้ว่า “เมื่อผ่านกระบวนการหมักทางชีวภาพหลังการใช้งานแล้ว ต้องไม่ทิ้งสิ่งที่มองเห็นด้วยตาเปล่า สิ่งแปลกปลอม หรือสารพิษไว้” ดังนั้น พลาสติกประเภทนี้จึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดของพลาสติกที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่แม้แต่พลาสติกชนิด Compostable ก็ยังต้องอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด เช่น ในการทำปุ๋ยเชิงอุตสาหกรรม จึงจะสามารถย่อยสลายได้อย่างสมบูรณ์
ในประเทศไทย ปัญหาไมโครพลาสติกกลายเป็นประเด็นโด่งดังขึ้นมาจากข่าวการพบไมโครพลาสติกในท้องปลาทู ซึ่งเป็นปลาที่คนไทยนิยมรับประทาน และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าปลาทูที่นำมาวิจัยทุกตัวมีไมโครพลาสติกปะปนอยู่โดยเฉลี่ย 78 ชิ้น!! ซึ่งนั่นหมายความว่าไมโครพลาสติกได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหารไปแล้ว
หากดูกันที่นิยาม “ไมโครพลาสติก” หมายถึง ชิ้นส่วนพลาสติกที่มีขนาดเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งอาจเป็นพลาสติกเม็ดเล็กๆ ที่มนุษย์ผลิตขึ้น เช่น ไมโครบีดส์สำหรับใส่ในยาสีฟันหรือครีมขัดผิว หรือชิ้นส่วนเล็กๆ ที่เกิดจากการแตกหักผุพังของพลาสติกเมื่อเวลาผ่านไป พลาสติกชิ้นเล็กๆ เหล่านี้เมื่อเข้าไปปะปนอยู่ในระบบนิเวศก็ยากที่จะกำจัด และทิ้งสารพิษตกค้างเอาไว้ และหากแตกสลายเล็กลงไปอีกจนกลายเป็น “นาโนพลาสติก” ก็จะยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้น เพราะพลาสติกที่มีขนาดเล็กมากสามารถเข้าไปอยู่ในอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งกระแสเลือดได้!
พลาสติกทุกชนิดต้องใช้เวลาในการย่อยสลาย หรือบางชนิดก็ย่อยสลายไม่ได้เลย ทางออกที่ดีที่สุดจึงน่าจะเป็นการแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง ด้วยการลด ละ เลิก การใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่เปลี่ยนมาใช้วัสดุอื่น เช่น ถุงผ้า หรือถุงกระดาษแทน
King Organic ห่วงใยสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของคนไทยทุกคน เราสืบสานปณิธานการทำธุรกิจที่ไม่ทำร้ายโลก และสนับสนุนให้ลูกค้าของเรานำถุงพลาสติกบรรจุผักผลไม้มาใช้ซ้ำ นอกจากนี้ เรายังมอบส่วนลด 5% ให้กับลูกค้าทุกท่านที่แจ้งว่า “ไม่รับถุงพลาสติก” เมื่อสั่งซื้อผักและผลไม้ออร์แกนิคโดยไม่จำกัดระยะเวลาหรือจำนวนเงินขั้นต่ำ
ติดต่อสั่งซื้อและผักผลไม้ออร์แกนิคปลอดภัย ไม่ทำร้ายโลก ได้ที่
Line ID : @kingorganic
Facebook : m.me/kingorganicth
รายการสินค้าของคิงออร์แกนิค