เมื่อเดือนมกราคม ปี 2561 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN ได้ออกมาแถลงผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักไฮโดรโพนิกส์จำนวน 30 ตัวอย่าง พบว่าผักไฮโดรโพนิกส์ หรือที่เรียกกันทั่วไปในชื่อ “ผักไร้ดิน” หรือ “พืชไร้ดิน” นั้น 63.3% มีสารพิษตกค้างเกินมาตรฐาน โดยพบทั้งสารกำจัดวัชพืช สารป้องกันและกำจัดโรคพืช และสารกำจัดแมลง ซึ่งสวนทางกับความเชื่อของคนส่วนใหญ่ที่คิดว่าผักไฮโดรโพนิกส์เป็นผักปลอดสารพิษ นอกจากนั้นสารพิษที่พบส่วนใหญ่ คือ 17 จาก 25 ชนิด ยังเป็นสารประเภทดูดซึม ซึ่งหมายความว่าสารพิษได้เข้าไปสะสมอยู่ในผัก จนทำให้การล้างทำความสะอาดผักเพื่อลดสารพิษตกค้างนั้นทำได้ยากหรือแทบจะไม่ได้ผลเลย
ผลการวิเคราะห์นี้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้บริโภคจำนวนมาก เนื่องจากหลายคนเชื่อว่าผักไฮโดรโพนิกส์หรือผักที่ปลูกโดยไม่ใช้ดินนั้น เป็นผักที่สะอาดปลอดภัย ไร้สารเคมี กระทั่งบางคนเข้าใจผิดคิดว่าผักไฮโดรโพนิกส์คือผักออร์แกนิคหรือผักอินทรีย์ก็มี ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด
ผักไฮโดรโพนิกส์คืออะไร
คำว่าไฮโดรโพนิกส์มาจากภาษาอังกฤษคือ Hydroponics ซึ่งหมายถึงการปลูกพืชโดยไม่ใช้ดิน หรือการปลูกพืชในน้ำ ซึ่งเป็นวิธีการใหม่ในการเพาะปลูก มักใช้กับพืชและผักที่ปลูกเพื่อเป็นอาหาร เนื่องจากประหยัดพื้นที่ สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น และให้ผลผลิตสม่ำเสมอ จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับการปลูกเพื่อการพาณิชย์ นอกจากนี้ยังเป็นระบบที่ง่ายต่อการควบคุมป้องกันโรคและแมลง ทำให้ไม่ต้องใช้สารเคมีกำจัดแมลงและวัชพืช และไม่มีปัญหาโรคพืชที่ติดมากับดิน หลายคนจึงเข้าใจผิดคิดว่าพืชไร้ดินคือพืชที่ปลอดภัยและปราศจากสารเคมี และทำให้ผักชนิดนี้ได้รับความนิยมอย่างมากในท้องตลาดถึงขนาดที่เกษตรกรหลายคนอยากผันตัวมาปลูกพืชโดยไม่ใช้ดินดูบ้าง
ฟังดูน่าจะดี แต่ที่จริงแล้วผักไฮโดรโพนิกส์ไม่ใช่การปลูกพืชในน้ำ แต่เป็นการปลูกในสารละลายธาตุอาหารพืช โดยให้รากพืชแช่อยู่ในสารละลาย หรือบางครั้งก็เป็นปลูกบนวัสดุที่ไม่ใช่ดินและรดด้วยสารละลายธาตุอาหารพืช ซึ่งก็คือน้ำปุ๋ยหรือสารเคมีอย่างหนึ่งนั่นเอง วิธีนี้ทำให้เกษตรกรไม่สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ และผลผลิตที่ได้ยังอาจมีสารตกค้างในปริมาณมากกว่าผักที่ปลูกด้วยวิธีการตามปรกติอีกด้วย
ผักอินทรีย์คืออะไร
ผักอินทรีย์ หรือ ผักออร์แกนิค หมายถึง ผักที่มาจากระบบการผลิตที่ไม่ใช้สารเคมีใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่ใช้พันธุ์พืชที่ตัดต่อพันธุกรรม และใช้ปุ๋ยที่มาจากธรรมชาติเท่านั้น ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้จึงมีความสะอาดและปลอดภัย 100% ตามกรรมวิธีของเกษตรอินทรีย์และเป็นระบบการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ในการขอใบรับรองมาตรฐานออร์แกนิค เกษตรกรผู้เพาะปลูกจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางไว้อย่างเข้มงวด เพื่อให้ได้ผลผลิตอินทรีย์ที่มีคุณภาพตรงตามมาตรฐาน เช่น มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกท. ของสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มาตรฐาน USDA ของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ มาตรฐาน EU organic ของประเทศในแถบยุโรป เป็นต้น
ปัญหาไนเตรทตกค้างในผักไฮโดรโพนิกส์
เมื่อได้ทราบนิยามของผักไฮโดรโพนิกส์แล้ว ผู้อ่านคงหายสงสัยและเข้าใจว่านอกจากผักไฮโดรโพนิกส์จะไม่ใช่ผักปลอดสารและแตกต่างจากผักอินทรีย์แล้ว ยังอาจมีสารเคมีตกค้างมากกว่าผักโดยทั่วไปอีกด้วย ซึ่งปัญหาสารเคมีตกค้างที่พบบ่อยที่สุดก็คือ ไนเตรทตกค้าง
ผักใบเขียวบางชนิดมีสารไนเตรทสูงอยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่น ผักคะน้า ผักฮ่องเต้ ผักกาดขาว ผักบุ้งจีน ฯลฯ เมื่อนำไปปลูกในระบบไฮโดรโพนิกส์ซึ่งเป็นการปลูกในสารละลายธาตุอาหารก็ยิ่งเพิ่มปริมาณไนเตรทให้สูงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากสารละลายธาตุอาหารก็คือปุ๋ยที่มีอนุมูลของไนโตรเจนอยู่เป็นจำนวนมาก และปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้กับผักไฮโดรโพนิกส์ก็อยู่ในรูปไนเตรทเกือบทั้งหมด ดังนั้นหากไม่มีการควบคุมที่ดี ผักไฮโดรโพนิกส์ที่ได้ก็จะมีค่าไนเตรทสูงกว่าปกติ
อันตรายของไนเตรท
ไนเตรทเป็นตัวการก่อให้เกิดโรคมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร ฯลฯ เมื่อเข้าสู่ร่างกายไนเตรทจะเปลี่ยนเป็นไนไตรท์โดยปฏิริยาของแบคทีเรีย ซึ่งจะไปทำปฏิกิริยากับเอมีน (Amine) ในอาหาร กลายเป็นไนโตรซามีน (Nitrosamine) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่ร้ายแรง สำหรับผู้ที่ไวต่อไนเตรท หากได้รับไนเตรทในปริมาณมากเกินไป จะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องร่วง อุจจาระเป็นเลือด และปวดศีรษะ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เราสามารถยับยั้งการเกิดพิษเฉียบพลันจากไนเตรทได้ด้วยการทานอาหารที่มีวิตามิน C และวิตามิน E สูง เช่น ส้ม ฝรั่ง แตงโม มะละกอ พริก ถั่ว และธัญพืชต่างๆ เพราะวิตามินสองตัวนี้มีประสิทธิภาพช่วยป้องกันและยับยั้งไม่ให้เกิดสารไนโตรซามีนขึ้นในกระเพาะอาหาร
พืชที่ได้รับไนเตรทมากเกินไปจะสะสมไนเตรทไว้ที่ใบและราก และการสะสมไนเตรทของพืชยังแตกต่างกันในแต่ละเนื้อเยื่อ โดยเส้นใบจะมีการสะสมไนเตรทน้อยกว่าก้านใบและลำต้น ส่วนใบแก่จะมีการสะสมไนเตรทมากกว่าใบอ่อน นอกจากนี้ ปริมาณการสะสมไนเตรทของพืชยังขึ้นอยู่กับอายุ เวลาที่เก็บเกี่ยว ความเข้มแสง ฤดูกาลที่ปลูก และชนิดของปุ๋ยไนโตรเจนที่ใช้
ในฤดูหนาว ค่าไนเตรทของพืชจะสูงกว่าในฤดูร้อน เนื่องจากความเข้มแสงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการสะสมของไนเตรท กล่าวคือ พืชจะสะสมไนเตรทในสภาพที่มีความเข้มแสงน้อยสูงกว่าสภาพที่มีความเข้มแสงมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเขตร้อนที่มีความเข้มแสงสูงกว่าประเทศทางแถบยุโรป การสะสมไนเตรทของพืชจึงน้อยกว่า แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าปริมาณไนเตรทในพืชผักเมืองไทยไม่เป็นอันตราย เพราะประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดค่าไนเตรทตกค้างที่ยอมรับได้อย่างประเทศอื่นๆ ซึ่งปัจจุบันประเทศแถบยุโรปกำหนดให้ผักประเภทสลัดที่ปลูกกลางแจ้งมีไนเตรทตกค้างได้ไม่เกิน 2,500 มิลลิกรัม ต่อ 1 กิโลกรัม
ทางออกสำหรับผู้ที่มองหาผักปลอดภัย
การผลิตผักไฮโดรโพนิกส์ หรือพืชไร้ดิน จะปลอดภัยอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อมีระบบการผลิตที่สะอาด และสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตต่างๆ ได้ ส่วนการลดไนเตรทสะสมในผักนั้นสามารถทำได้โดยการลดค่าความเข้มของปุ๋ย (EC) ให้ต่ำกว่าปกติในช่วงก่อนการเก็บเกี่ยว เช่น หากความเข้มข้นของปุ๋ยไฮโดรโพนิกส์อยู่ที่ 1.2-1.5 ก็ควรลดลงให้เหลือต่ำกว่า 1.0 ซึ่งจะทำให้ค่าไนเตรทตกค้างในผักลดลงตามไปด้วย แต่ใครจะทำตามมากน้อยแค่ไหน หรือระวัดระวังอย่างไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของผู้ผลิต ดังนั้น “ผักไร้ดิน” หรือ “พืชไร้ดิน” ตามที่คนส่วนใหญ่เรียก จึงอาจไม่ใช่ทางเลือกสำหรับผู้บริโภคที่กำลังมองหาผักปลอดภัย ไร้สารพิษ และยังไม่สามารถแทนที่ผักอินทรีย์หรือผักออร์แกนิคได้
แหล่งอ้างอิง